top of page

เช็คลิสต์ 10 ข้อ ดูแลบ้านเตรียมรับมือหน้าฝน

หน้าฝนมาเยือนบ้านก็มักจะเจอกับปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหลังคารั่วซึมเข้าตัวบ้าน ท่อน้ำอุดตัน ระบบไฟฟ้าขัดข้อง เป็นต้น วันนี้เสริมไทมี “เช็คลิสต์ 10 ข้อ ดูแลบ้านเตรียมรับมือหน้าฝน” มาแนะนำค่ะ เพื่อเป็นการรับมือกับปัญหาในหน้าฝนที่อาจเกิดขึ้นได้ค่ะ

1. เช็ครอยรั่วซึมหลังคาบ้าน

สิ่งแรกที่ต้องเช็คเลยคือหลังคาค่ะ เพราะหลังคาเป็นส่วนที่สำคัญมากที่สุดของบ้าน เราใช้หลังคาเพื่อปกป้องบ้านจากภัยทุกสิ่ง และเป็นจุดที่อยู่สูงที่สุดของตัวบ้านเมื่อมีปัญหาก็จะทำให้ส่วนอื่นๆ ของบ้านเกิดปัญหาตามไปด้วย และหากเจอปัญหาช้าก็อาจทำให้ยากที่จะแก้ไขได้

  • เช็คครอบต่างๆ ของหลังคาว่าอยู่แนบสนิทกับแผ่นหลังคาด้านล่าง รางน้ำฝนแนบสนิทแน่นพอดีกับแนวขอบหลังคา ครอบข้าง เชิงชาย ฝ้าหลังคาหรือไม่

  • เช็ควัสดุประกอบหลังคาประกบติดแน่นสนิทดีไม่มีความเสียหายหรือรอยแตกใดๆ และเช็ครอยสนิมของเมทัลชีทที่อาจนำมาสู่ความเสียหายได้ในอนาคต

  • เช็คคราบน้ำบนฝ้า ถ้าเจอคราบน้ำบนฝ้า เพดาน แสดงว่าน้ำรั่วซึมแล้วค่ะ

2. เช็ครอยแตกร้าวผนัง/เพดาน

  • เช็คผนังมีรอยแตกร้าวเป็นรอยแตกลายงาเป็นริ้ว และเมื่อลองกะเทาะผิวดูแล้วรอยร้าวไม่เกินเข้าไปถึงเนื้อผนัง อาจเกิดจากพื้นผิวผนังที่เสื่อมสภาพ แต่หากเกิดรอยร้าวเป็นแนวตรงระนาบ (แนวดิ่งหรือแนวนอน) บริเวณขอบมุมเสา ใต้คาน ขอบวงกบหน้าต่างประตู หรือรอยแตกที่ขนานกันหลายรอย ควรให้ช่างทำการสำรวจคาน โครงสร้าง และฐานรากต่อไป

  • เช็คฝ้าเพดานคอนกรีตดาดฟ้า พบมากกับบ้านหรืออาคารพาณิชย์ที่มีชั้นดาดฟ้า คือฝ้าเพดานชั้นบนสุด (หรือพื้นของชั้นดาดฟ้า) มีส่วนของซีเมนต์หลุดร่วงลงบนพื้นจนเผยให้เห็นเหล็กเสริมพื้นหรือไม่

  • เช็ครอยร้าวขนาดใหญ่กลางผนัง หากรอยร้าวอยู่ตรงกลางผนังขนาดใหญ่ในแนวตามมุมทแยง โดยมีช่องตรงกลางกว้างที่สุด ส่วนปลายเหมือนจะถูกฉีกออก หรือรอยร้าวขนาดใหญ่ที่ชิดตามแนวขอบเสาที่ช่องแตกร้าว สังเกตที่ส่วนบนกว้างกว่าส่วนล่าง นั่นแสดงว่าปัญหาเกิดขึ้นจากส่วนของฐานรากที่มีด้านใดด้านหนึ่งกำลังทรุดตัวลง และผนังสองฝั่งกำลังถูกฉีกออกจากกันตามแนวการทรุดตัว


3. เช็ครางน้ำฝน

  • กำจัดเศษขยะ เศษดิน เศษใบไม้แห้งออกให้หมด การขูดคราบขยะในขณะที่ขยะนั้นยังชื้นๆ อยู่ จะทำให้ขูดได้ง่าย และไม่ควรนำเศษขยะต่างๆ ทิ้งลงในท่อน้ำลง ควรใส่ถังขยะ

  • ทำความสะอาดรางน้ำฝนโดยการฉีดน้ำลงบนรางน้ำฝน หากพบเจอคราบดินที่ติดแน่นให้ใช้เหล็กขูดออก

  • ท่อน้ำลงอาจมีสิ่งอุดตันได้ ให้ใช้งูเหล็กเขี่ยและดันสิ่งอุดตันออกมา หากท่อยาวมากให้เขี่ยทั้งสองฝั่งสลับกันไปมา

  • ตรวจซ่อมรอยรั่วต่างๆ ของรางน้ำ ขณะที่ฉีดน้ำทำความสะอาดให้สังเกตรอยรั่วที่เกิด แล้วทำการอุดให้เรียบร้อยค่ะ

  • ตรวจสอบสภาพของรางน้ำว่าจุดยึดต่างๆ คลายตัวหรือไม่ ทำการแก้ไขสภาพรางน้ำให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและตรวจดูความเอียงของรางว่าน้ำฝนสามารถลงได้สะดวกหรือไม่

4. เช็คท่อระบายน้ำ

ตรวจเช็คท่อระบายว่าน้ำระบายดีอยู่หรือไม่ เพราะหากเกิดน้ำท่วมขังไม่ระบายจะทำให้ฝนที่ตกลงมาเอ่อล้น ดังนั้นจึงควรหมั่นทำความสะอาดเอาเศษใบไม้ เศษดินโคลนออกจากบ่อตักขยะในบ้าน รวมทั้งล้างบริเวณระเบียง หรือเฉลียง เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อระบายน้ำอุดตัน

5. เช็คระบบไฟฟ้า

  • เช็คมิเตอร์ไฟฟ้า ว่ายังหมุนอยู่หรือไม่ หากหมุนแสดงว่ามีกระแสไฟฟ้ารั่วให้ลองตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าชนิดอื่นๆ ก่อน

  • เช็คสายไฟ ว่ามีรอยเปื่อย สายไฟเก่า สายไฟที่โดนแมลงหรือหนูกัดจนสายยุ่ยหรือไม่

  • เช็คสายไฟตามผนัง และเพดาน เพราะหากมีน้ำจากหลังคาหยดลงมาทำให้สายไฟชื้น อาจทำให้เกิดไฟฟ้าช็อตตามมาในอนาคตได้

  • เช็คแผงไฟ ไม่ควรมีรอยแตกของอุปกรณ์ ไม่ควรมีมดแมลงเข้าไปทำรัง ควรอยู่ในที่สูงไม่มีความชื้น

  • เช็คเอาท์ เบรกเกอร์ว่ายังทำงานอยู่หรือไม่

  • เช็คเต้ารับว่ามีรอยแตกร้าวหรือไม่

6. ย้ายเฟอร์นิเจอร์

เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้นั่งเล่นตามสนามหญ้าหน้าบ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องตากแดด ตากฝนบ่อยๆ อุปกรณ์เหล่านี้ถึงแม้จะทนทาน แดด และฝนแค่ไหน แต่เมื่อปล่อยให้โดนแดด โดนฝน เป็นเวลานานก็อาจทำให้เฟอร์นิเจอร์เสื่อมสภาพ และลดอายุการใช้งานให้สั้นลงได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันการเสียหายเราจึงควรย้ายเฟอร์นิเจอร์หลบแดดหลบฝน หรืออาจใช้วิธีหาผ้าใบมาคลุมเมื่อฝนตกก็ได้ เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานให้เฟอร์นิเจอร์ของเราค่ะ

7. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

หน้าฝนเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากที่สุด หากรอบๆ บ้านมีภาชนะบางส่วนที่เป็นแหล่งกักเก็บน้ำฝนชั้นดี ก็อาจทำให้กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงลายได้

  • เช็คปากภาชนะที่ใช้กักเก็บน้ำ ควรปิดปากภาชนะด้วยผ้า ตาข่ายไนล่อน อะลูมีเนียม หรือวัสดุอื่นๆ ที่สามารถปิดปากภาชนะเก็บน้ำนั้นได้อย่างมิดชิด

  • ควรเปลี่ยนน้ำ เช่น แจกันดอกไม้ หรือภาชนะขวดต่างๆ ที่มีน้ำ ทุก 7 วัน

  • กระถางต้นไม้ที่ใหญ่และหนักควรใส่ทรายรองกระถางต้นไม้ ให้ลึกประมาณ 3 ใน 4 ของความลึกจานกระถางต้นไม้นั้น เพื่อให้ทรายดูดซึมน้ำที่เป็นส่วนเกินจากการรดน้ำต้นไม้ หากเป็นกระถางต้นไม้ที่เล็กก็ใช้วิธีเทน้ำขังที่อยู่ในจานรองทุก 7 วัน

  • เก็บและทำลายเศษวัสดุ เช่น ขวด ไห กระป๋อง ฯลฯ และยางรถยนต์เก่าที่ไม่ใช้ หรือคลุมให้มิดชิดเพื่อไม่ให้รองรับน้ำได้

  • บริเวณที่อับ มืด มักเป็นจุดที่มียุงเยอะ เพราะยุงจะชอบเกาะพักอยู่ตามจุดนั้น ควรแก้ไขจุดต่างๆ ของบ้านให้ดูโปร่ง โล่ง ถ้าเป็นต้นไม้ที่ใช้ประดับหน้าบ้านก็คอยสังเกตว่ารดน้ำมากไปจนมีน้ำขังอยู่ในจานรองกระถางหรือเปล่า พยายามเทน้ำทิ้งบ่อยๆ

8. ทำความสะอาดพื้น ตะไคร้น้ำ

คราบตะไคร้ คราบเชื้อราต่างๆ หากปล่อยทิ้งไว้นอกจากจะทำให้บ้านของเราดูสกปรกแล้วยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มได้ ยิ่งหากบ้านไหนที่มีผู้สูงอายุยิ่งต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ เมื่อฝนตก น้ำเจิงนอง ก็จะทำให้พื้นบ้านของเราเปียกและเลอะเทอะมากขึ้นกว่าเดิม เราจึงควรทำความสะอาดพื้นที่มีคราบสกปรกออกค่ะ เพื่อเป็นการป้องกันอุบัติเหตุ และบ้านที่สวยงามของเรา

9. ตัดกิ่งไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัวบ้าน

กิ่งไม้หรือต้นไม้ขนาดใหญ่ที่อยู่ติดกับบ้าน เมื่อเกิดพายุ ลมแรง กิ่งไม้เหล่านี้อาจจะหัก หรือโค่นล้มลงมาทับตัวบ้านจนเกิดความเสียหายได้ ดังนั้นเราควรที่จะจัดการกับกิ่งไม้ใหญ่เหล่านี้โดนการ ตัด ทอน ให้กิ่งไม้เหล่านั้นไม่เป็นปัญหาให้กับบ้านเราเมื่อมีพายุหรือลมแรง

10. จัดสวน

หน้าฝนเป็นฤดูกาลที่ดีในการจัดสวน ปลูกต้นไม้ เพราะพื้นดินที่ได้รับน้ำฝนจะมีความชุ่มชื้นและยังมีน้ำฝนมาให้ความชุ่มฉ่ำกับต้นไม้ ทำให้ต้นไม้มีโอกาสรอดสูงเพราะใบไม้จะไม่มีการระเหยมากนัก การปลูกต้นไม้และย้ายต้นไม้ถือว่าเหมาะมากในฤดูฝน หากมีต้นไม้ที่พึ่งปลูกใหม่แน่นอนว่ารากอาจจะยังไม่แข็งแรงพอที่จะยืนต้นได้ดี และหากเจอลมพายุพัดแรงๆ ก็อาจทำให้ต้นไม้เราโค่นล้มได้ แนะนำให้ใช้ไม้ค้ำยันต้นไม้ เพื่อเป็นการช่วยพยุงต้นไม้ให้แข็งแรง

ดู 70 ครั้ง

Comentários


bottom of page